วันจันทร์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

"คาถาอิติปิโสเรือนเตี้ย" หรือ คาถามงกุฏพระพุทธเจ้า

"คาถาอิติปิโสเรือนเตี้ย"  หรือ คาถามงกุฏพระพุทธเจ้า

อานิสงค์ของคาถานี้เป็น คาถาครอบจักรวาล เรานำไปใช้ในทางกุศลได้ทุก ๆ เรื่อง

การท่องคาถา มีดังนี้
กล่าวนะโม 3 จบ (นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธธัสสะ  ๆๆ)

" อิติปิโส วิเสเสอิ อิเสเส พุทธะนาเมอิ อิเมนา พุทธะตังโสอิอิโสตัง พุทธะปิติอิ "  ท่อง 3 หรือ 9 จบ
แล้วอธิษฐาน


ความหมายคาถามงกุฏพระพุทธเจ้ามาจากพุทธภูมิธรรม4 ประการคือ
•อิติปิโส วิเสเสอิ (ความกล้าหาญบำเพ็ญความดี)  *อุสาหะ*
•อิเสเสพุทธะนาเมอิ (มีปัญญา รู้เหตุ รู้ผล ดี-ชั่ว) *อุมมัคคะ*
•อิเมนาพุทธะตังโสอิ (มีใจไม่ท้อถอยมุ่งมั่นกระทำความดี) *อวัฏฐานะ*
•อิโสตังพุทธะปิติอิ (เสียสละกระทำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์)*หัตถจริยา*


หลักในการว่าคาถาให้มีความศักดิ์สิทธิ์นั้น มีพื้นฐานจาก " จิต " เป็นสำคัญ หากจิตมีสมาธิสูง ตั้งมั่นคาถาก็ยิ่งทรงความศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้นระหว่างที่ว่าคาถาให้ จับลมหายใจสบายพร้อม ๆ กับการภาวนาคาถาบทนี้

ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ท่านใช้คาถาบทนี้ โดยมีนิมิต กำกับคาถา โดยทรงพุทธนิมิต ไว้ดังนี้โดยตั้งกำลังใจว่าเรา "ขอกราบอาราธนาบารมีพระพุทธเจ้าเสด็จประทับเหนือเศียรเกล้าของข้าพเจ้า เพื่อปกปักรักษาคุ้มครองข้าพเจ้าด้วยเทอญ"


ในสมัยรัชกาลที่5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงใช้2 ครั้งในช่วงเสด็จประพาสยุโยป ดังอนาคตังสญาณของพระปลัดเอี่ยมที่ดูให้ท่านก่อนเสด็จประภาสฝรั่งเศส ดังนี้

**ในท่ามกลางความคะนองของท้องทะเล และคลื่นลมตลอดจนวังวนของทะเล เรือพระที่นั่งกำลังอยู่ในปากแห่งวังวนนั้น น้ำในวังวนเชี่ยวกราก และส่งแรงดูดมหาศาล ภายใต้วังวนนั้น ซากเรือใหญ่น้อยจมอยู่เป็นอันมาก  พ้นจากทะเลมาสู่บก พลันภาพของกลุ่มคนที่นั่งกันอยู่เป็นชั้น ๆ ส่งเสียงจ้อกแจัก ด้านล่างเป็นผืนหญ้า และมีผู้จูงม้าเข้ามาในที่นั้น ม้าตัวนั้นมีคนถือเชือกที่ล่ามขาทั้งสี่คอยดึงไว้ไม่ให้พยศ ดวงตาของมันเหลือกโปน น้ำลายฟูมปาก  ภาพของฝรั่งแต่งตัวด้วยเครื่องแบบประหลาด ผายมือให้พระบาทสมเด็จพระปิยมหาราชเจ้าทรงเสด็จไปรับม้าเพื่อประทับ แล้วทุกอย่างก็ดับวูบหายไป ถึงวาระที่ออกจากญาณพอดีลุกขึ้นเดินมานั่งบนอาสนะที่เดิม ก่อนจะกราบทูลความถวายว่า

"มหาบพิตร การเสด็จพระราชดำเนินสู่ยุโรปครั้งนี้ จะต้องประสบภัยสองครั้ง ครั้งแรกในทะเลที่วังวน อาตมาจะถวายผ้ายันต์พิเศษและคาถากำกับ เมื่อเข้าที่คับขันขอให้ทรงเสด็จไปยืนที่หัวเรือ แล้วภาวนาคาถากำกับผ้ายันต์แล้วโบกผ้านั้น จะเกิดลมมหาวาตะพัดให้เรือหลุดจากการเข้าสู่วังวนได้
ภัยครั้งที่สองเกิดจากสัตว์จตุบท (สี่เท้า) คืออัศดรชาติอันดุร้ายที่ฝ่ายตรงข้ามจะทดลองพระองค์อาตมาจะถวายคาถาพิเศษสำหรับภาวนาเวลาถอนหญ้าให้อัศดรอันดุร้ายนั้นกิน จะคลายพยศและสามารถประทับบังคับให้ทำตามพระราชหฤทัยได้เหมือนม้าเชื่อง"

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่เล่าลือกันมาตั้งแต่สมัยพระพุทธเจ้าหลวง(ร.5) ปู่ย่าตายายได้เล่าสืบทอดกันมาอันมีส่วนหนึ่งเกี่ยวพันกับพระบรมรูปทรงม้าที่ลานพระราชวังดุสิต

คาถาเสกหญ้าให้ม้ากินที่หลวงปู่เอี่ยมถวายนั้น คือ "คาถาอิติปิโสเรือนเตี้ย" หรือ "มงกุฎพระพุทธเจ้า" มีตัวคาถาว่า"อิติปิโส วิเสเสอิ อิเสเส พุทธะนาเมอิ อิเมนา พุทธะตังโสอิ อิโสตังพุทธะปิติอิ "**


การเสด็จประพาสยุโรปในครั้งแรก เมื่อ ปี พ.ศ. 2440 (ร.ศ. 116) ได้ทรงเตรียมการทุกอย่างไว้เป็นอย่างดียิ่ง ในส่วนที่เป็นกิจการภายในประเทศ ได้ทรงแต่งตั้งสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อหน้ามหาสมาคม จากนั้นได้ทรงถวายสัตย์ปฏิญาณต่อหน้ามหาสมาคมซึ่งประกอบไปด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ เหล่าเสนามหาอำมาตย์ ข้าราชบริพาร และพระราชาคณะอันมีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธาน ในพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร บางลำภู กรุงเทพฯ มีใจความสำคัญ ดังนี้

๑. จักไม่เปลี่ยนแปลงจากพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาอื่น
๒. จักเสวยน้ำจัณฑ์ (เหล้า) ต่อเมื่อไม่เป็นการผิดพระราชประเพณีต่อฝ่ายที่จะกระชับสัมพันธไมตรี และจะเสวยเพียงเพื่อไมตรีไม่ให้เสียพระเกียรติยศ
๓. จะไม่ล่วงประเวณีต่อสตรีไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติใด ตลอดเวลาที่พ้นออกไปจากพระราชอาณาเขตสยาม

การเสด็จพระราชดำเนินครั้งนี้ ไม่ได้เป็นไปเพื่อความสำราญส่วนพระองค์ แต่ทรงเสียสละความสุขส่วนพระองค์เพื่อประเทศชาติโดยแท้ จากจดหมายเหตุและพระราชหัตถเลขา ที่ทรงมีมายังพระพันปีหลวงผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ทรงบอกชัดเจนว่า

ทรงต้องผจญภัยในท้องทะเล กับคลื่นลมที่แปรปรวน ทรงพบกับความลำบากนานาประการอาทิ ต้องทรงงดเสวยพระโอสถหมากและพระโอสถมวน (หมาก พลู บุหรี่) และต้องให้ช่างมาขูดคราบพระทนต์ (ฟัน) ที่เกิดจากคราบหมากคราบปูนออกเพื่อให้พระทนต์ขาว ห้องพระบรรทมในเรือพระที่นั่งก็ไม่สะดวกสบาย อากาศร้อนเป็นที่สุด การเสวยก็ไม่เป็นไปตามที่ทรงพระประสงค์ ฯลฯ ซึ่งความยากลำบากเหล่านี้เกิดขึ้นตลอดระยะเวลาแรมเดือน ในช่วงที่ต้องใช้ทะเล มหาสมุทร เป็นเส้นทางเสด็จและในช่วงที่เสด็จรอนแรมในท้องทะเลนั่นเอง คำพยากรณ์ข้อที่ 1. ของหลวงปู่เอี่ยม วัดโคนอนก็เป็นจริง
เมื่อเรือพระที่นั่งแล่นอยู่ในบริเวณใกล้กับ สะดือทะเล หรือ "ซากัสโซ ซี" อันบริเวณนั้นมักจะเกิดน้ำวนเป็นประจำ และเรือลำใดบังเอิญหลงเข้าไปในวังน้ำวนนั้น ก็มีหวังจมลงอับปางเป็นแน่แท้ และแล้วเรือพระที่นั่งมหาจักรี ก็พลัดเข้าไปในวังวนนั้นจนได้  กัปต้นคัมมิง (Commander Cumming) แห่งราชนาวีอังกฤษซึ่งไทยได้ขอยืมตัวมาเป็นผู้บังคับการเรือพระที่นั่งเป็นการชั่วคราว ได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มสติกำลังความสามารถ บังคับเรือให้สู้กับแรงหมุนและดูดอย่างเต็มที่ ด้วยหากเรือพระที่นั่งเข้าปากวังวนแล้วการรอดออกมานั้นหมดหนทาง

ในขณะที่วิกฤตินั้น ได้มีผู้เข้าไปกราบทูลให้ทรงทราบ เมื่อระลึกถึงคำพยากรณ์ของพระปลัดเอี่ยมข้อแรกขึ้นมาได้ ก็ทรงจัดฉลองพระองค์ให้รัดกุม อาราธนาผ้ายันต์ของพระปลัดเอี่ยมติดมาด้วย เมื่อเสด็จมาถึงตอนหัวเรือ กัปตันกำลังแก้ไขสถานการณ์สุดกำลัง ทรงไม่รบกวนสมาธิของกัปตัน แต่เสด็จไปยืนอธิษฐานจิตถึงพระรัตนตรัย พระสยามเทวาธิราช และบารมีทศพิธราชธรรม และการเลิกทาสที่ทรงพระวิริยะอุตสาหะในการช่วยเหลือพสกนิกรให้พ้นจากการเป็นทาส จบลงด้วยพระปลัดเอี่ยมและผ้ายันต์ ทรงโบกผ้ายันต์นั้นไปมาด้วยความมั่นพระราชหฤทัย แล้วปาฎิหาริย์ก็ปรากฎ เหตุการณ์ก็แปรเปลี่ยน จู่ ๆ ก็เกิดลมมหาวาตะพัดมาในทิศทางที่อยู่ในแนวเดียวกับวังวน แรงลมทำให้เกิดกระแสคลื่นสะกัดกระแสวนของวังน้ำ ดันเรือพระที่นั่งให้พ้นจากแรงดูดสามารถตั้งเข็มเข้าสู่เส้นทางได้ ท่ามกลางเสียงร้องตะโกนว่า "ฮูเรย์" ของกัปตันและลูกเรือ

ส่วนผู้ติดตามเสด็จนั้นอ้าปากค้างทำอะไรไม่ถูก จนทรงพับผ้ายันต์เก็บแล้วนั่นแหละ จึงค่อย ๆร้องว่า สาธุ สาธุ คำพยากรณ์ข้อแรกเป็นที่ประจักษ์แก่พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงว่า "แม่นยำยิ่งนัก" คงเหลือแต่คำพยากรณ์ข้อที่สองซึ่งยังมาไม่ถึง แต่ก็ทรงเตรียมพระองค์รับสถานการณ์หากจะเกิดขึ้น

เมื่อพระองค์เสด็จถึงประเทศฝรั่งเศสประธานาธิบดี เฟลิกซ์ ฟอร์ ได้ถวายการต้อนรับอย่างสมพระเกียรติ แม้จะไม่เต็มใจนัก แต่แรกไม่คิดจะต้อนรับขับสู้อย่างดีหรอกครับแต่สืบข่าวดูแล้ว ทุกประเทศที่พระองค์เสด็จผ่านมาก่อนหน้าที่จะเข้าฝรั่งเศส ไม่ว่าจะเป็นสวิตเซอร์แลนด์ อิตาลี ออสเตรีย ฮังการี รัสเซีย เดนมาร์ก อังกฤษเบลเยี่ยม เยอรมัน ต่างก็ถวายการต้อนรับอย่างสมพระเกียรติ โดยเฉพาะรัสเซีย พระเจ้าซาร์ นิโคลัสทรงยกย่องนับถือเสมือนหนึ่งพระอนุชาร่วมอุทรของพระองค์เอง มีการฉายภาพพระบรมฉายาลักษณ์คู่กัน เผยแพร่ไปทั่วยุโรป แล้วอย่างนี้ "เจ้าเศษฝรั่ง" จะทำเป็นทองไม่รู้ร้อนได้อย่างไร

 ในช่วงที่ทรงพำนักในกรุงปารีส ฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 11 ถึง 17 กันยายน 2440 นี่เอง ที่พระองค์ได้ประสบกับความแม่นยำในอนาคตังสญาณของพระปลัดเอี่ยม ข้อที่ 2หากไม่ได้เตรียมการ หรือเตรียมพระองค์ล่วงหน้าแล้ว มีหวังที่จะต้องเอาพระชนม์ชีพไปทิ้งเสียที่นี่กระมัง

โบราณว่าไว้ "หากไม่เข้าถ้ำเสือ แล้วจะได้ลูกเสืออย่างไร ? " เป็นบทท้าทายคำพิสูจน์ให้เห็นเด่นชัดตอนที่ล้นเกล้า ร.5 พระปิยมหาราชเสด็จพระราชดำเนินเหยียบดินแดนของผู้ที่ขึ้นชื่อได้ว่าเป็นศัตรูที่ร้ายกาจหวังจะครอบครองแผ่นดินไทยให้ได้ทั้งหมด แม้จะได้เป็นบางส่วนแล้วก็ตามก็หาเป็นที่พอใจไม่
ในช่วงที่เสด็จพระราชดำเนินเยือนทวีปยุโรปครั้งแรก เมื่อ ร.ศ. 116 นั้น สยามประเทศของเรายังคงมีกรณีพิพาทต่อกันในเรื่อง "สิทธิสภาพนอกอาณาเขต" กล่าวคือเราต้องยอมให้อังกฤษและฝรั่งเศสตั้งศาลกงสุลของตนในดินแดนไทย สำหรับตัดสินคดีความต่าง ๆ เมื่อคนของเขา หรือคนใดก็ตามแม้แต่คนไทยหัวใสบางคนที่ยอมตนจดทะเบียนเป็นคนในบังคับ (คล้าย ๆ กับการโอนสัญชาติ แต่ไม่ใช่ เพราะยังไม่มีสิทธิที่จะพำนักในประเทศของเขา ) ซึ่งก็มีจำนวนไม่น้อย เพราะเวลาทำผิดแล้วไม่ต้องขึ้นศาลไทย ไม่ใช้กฎหมายไทยตัดสิน คนไทยเองก็เถอะ หากทำความผิดต่อคนของเขาแล้ว ต้องขึ้นศาลเขาและต้องยอมเขาทุกอย่าง (คุ้นๆไหมเอ่ย) แม้ศาลไทยจะตัดสินว่า "ถูก" หากเขาเห็นว่า "ผิด"คนผู้นั้นก็ต้องถูกลงอาญา ซึ่งเป็นหนามยอกอกของคนไทยในสมัยนั้นมาก ต้องยอมให้คนต่างชาติต่างแดนมากดหัวเรา มาเอาเปรียบเรา เป็นการยั่วยุให้เราหมดความอดทน หากก่อสงคราม ก็มีหวังสูญเสียเอกราชของชาติแน่นอน
กรณี "พระยอดเมืองขวาง" แขวงเมืองคำเกิดคำมวน วีรบุรุษไทยที่รักผืนแผ่นดินไทย รักในองค์พระมหากษัตริย์ไทย ได้ดับความอหังการ์ของทหารฝรั่งเศสที่บุกรุกอธิปไตยของไทยที่เมืองขวาง จนต้องถูกจำคุกเสียหลายปี แม้ศาลไทยจะให้ปล่อยตัวเพราะเป็นการทำตามหน้าที่ แต่ศาลกงสุลของฝรั่งเศสในไทยตัดสินให้จำคุก ท่านก็ต้องติดคุกเพื่อชาติ เรื่องนี้คนไทยทั้งแผ่นดินในขณะนั้น แค้นแทบจะกระอักเลือดเลยครับ เกือบจะทำสงครามกันรอมร่ออยู่แล้ว ดีแต่องค์พระปิยมหาราชเจ้า ท่านทรงดำเนินวิเทโศบายด้านต่างประเทศด้วยการเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศต่าง ๆ ในยุโรปเสียก่อน แล้วพระองค์ก็ทรงทำสำเร็จเสียด้วย ผู้ที่แค้นแทบจะกระอักเลือดแทน ก็คงจะเป็น "เจ้าเศษฝรั่ง" น่ะเองซึ่งมันก็รอจังหวะและโอกาสที่จะล้างแค้นเหมือนกัน มันคิดว่า

"หากไม่มีล้นเกล้า ฯ ร.5 เสียพระองค์หนึ่ง สยามประเทศเราก็เปรียบเสมือนมังกรที่ไร้หัว"ที่นี้คงมีโอกาสมากขึ้นหากจะฮุบประเทศชาติของเราไว้ในกำมือ และแล้วแผนการอันแยบยลก็อุบัติขึ้นเมื่อพระองค์เสด็จเยือนประเทศฝรั่งเศส แม้เขาจะต้อนรับพระองค์อย่างสมพระเกียรติก็ตาม แต่นั่นเป็นเพียงหน้าฉากเท่านั้น หลังฉากน่ะหรือ ?  ได้กำหนดขึ้นเพื่อต้อนรับพระองค์ไว้เรียบร้อยแล้ว ในสนามแข่งม้าชานกรุงปารีสนั่นเอง

เมื่อพระองค์ได้รับคำทูลเชิญให้เสด็จทอดพระเนตรการแข่งม้านัดสำคัญนัดหนึ่งซึ่งมีขุนนาง ข้าราชการ พระบรมวงศานุวงศ์ฝรั่งเศสมาชมกันมาก พวกมันได้นำเอาม้าดุร้ายและพยศอย่างร้ายกาจมาถวายให้ทรงประทับ โดยถือโอกาสขณะที่อยู่ท่ามกลางมหาสมาคม แม้รู้ว่าม้านั้นดุร้าย พระปิยมหราชเจ้าก็จะไม่ทรงหลีกหนี ด้วยขัตติยะมานะที่ทรงมีอยู่ในฐานะผู้นำประเทศ หากทรงพลาดพลั้งนั่นคือ "อุบัติเหตุ" ใครก็จะเอาผิดหรือต่อว่าเจ้าเศษฝรั่งไม่ได้  ม้าตัวนั้นเล่าลือกันว่า เคยโขกกัดผู้เลี้ยงดูและผู้หาญขึ้นไปขี่ตายมาแล้วหลายคน จะเอาไปไหนต้องมีคนจูงด้วยเชือกล่ามเท้าทั้งสี่ไว้ เพื่อป้องกันการพยศและขบกัดผู้คน นัยว่าเป็นม้าของเจ้าชายแห่งฝรั่งเศสพระองค์หนึ่ง เมื่อถูกนำเข้ามาในสนาม ทุกคนก็ส่งเสียงร้องด้วยความตกใจและหวาดกลัว ตัวแทนรัฐบาลฝรั่งเศสเริ่มวางหลุมพราง โดยกราบบังคมทูลว่า

"ไม่ทราบเกล้าว่าเมื่ออยู่ในสยามประเทศเคยทรงม้าหรือไม่ พระเจ้าข้า"
"แน่นอน ข้าพเจ้าเคยทรงอยู่เป็นประจำ เพราะในสยามประเทศก็มีม้าพันธุ์ดีอยู่มาก"
"โอ วิเศษ ขออัญเชิญพระองค์ทรงเสด็จขึ้นทรงม้า ตัวที่กำลังถูกจูงเข้ามานี้ให้ประจักษ์ชัดแก่สายตาของผู้คนในสนามม้านี้ด้วยเถิดพระเจ้าข้า"
ตัวแทนรัฐบาลฝรั่งเศสกราบทูลด้วยความกระหยิ่มใจ
"แน่นอน ข้าพเจ้าจะแสดงให้ท่านทั้งหลายได้ดูว่า กษัตริย์แห่งสยามประเทศนั้นไม่เคยหวาดหวั่นกลัวแม้แต่อัสดรที่พยศดุร้าย หรือผู้คุกคามที่มีอาวุธพร้อมสรรพ "
จบพระราชดำรัสก็ทรงลุกขึ้นเปิดพระมาลาขึ้นรับการปรบมืออันกึกก้องสนามม้าแห่งนั้น แล้วเสด็จพระราชดำเนินลงจากอัฒจันทร์ สู่ลู่ด้านล่างซึ่งขณะนั้นม้ายืนส่งเสียงร้องและเอากีบเท้าตะกุยจนหญ้าขาดกระจุยกระจาย

คำพยากรณ์ของพระปลัดเอี่ยมยังกึกก้องอยู่ในพระกรรณ ทรงก้มพระวรกายลงใช้พระหัตถ์ขวารวบยอดหญ้าแล้วดึงขึ้นมากำมือหนึ่ง ทรงตั้งจิตอธิษฐานถึงพระรัตนตรัย พระสยามเทวาธิราชและพระปลัดเอี่ยม เจริญภาวนาพระคาถาอิติปิโสเรือนเตี้ยที่พระปลัดเอี่ยมถวายสามจบ ทรงเป่าลมจากพระโอษฐ์ลงไปบนกำหญ้านั้น แล้วแผ่เมตตาซ้ำ ยื่นส่งไปที่ปากม้า เจ้าสัตว์สี่เท้าผู้ดุร้ายสะบัดแผงคอส่งเสียงดังลั่นก่อนจะอ้าปากงับเอาหญ้าในพระหัตถ์ไปเคี้ยวกินแล้วก็กลืนลงไป

ผู้แทนรัฐบาลฝรั่งเศสโบกผ้าเช็ดหน้า เป็นสัญญาณให้แก้เชือกที่ตรึงเท้าม้าออกไปพ้นทั้งสี่เท้าบัดนี้เจ้าสัตว์ร้ายพ้นจากพันธนาการ และบรรดาผู้ที่จูงมันเข้ามาก็ผละหนี เพราะเกรงกลัวในความดุร้ายของมัน พระปิยะมหาราชเจ้าทรงทอดสายพระเนตรจับจ้องอยู่ที่นัยน์ตาของม้านั้น ก็เห็นว่ามันมีแววตาอันเป็นปกติ มิได้เหลือกโปนดุร้าย ทรงเอื้อมพระหัตถ์ไปตบที่ขาหน้าของมันสามครั้ง เจ้าม้านั้นก็ก้มหัวลงมาดมที่พระกรไม่แสดงอาการตื่น หญ้าเสกสำริดผลตามประสงค์
อาชาที่ดุร้ายกลับเชื่องลงเหมือนม้าลากรถ เจ้าชีวิตแห่งสยามประเทศยกพระบาทขึ้นเหยียบโกลนข้างหนึ่งแล้วหยัดพระวรกายขึ้นประทับบนอานม้าอย่างสง่างามไร้อาการต่อต้านของม้าที่เคยดุร้ายเสียงคนบนอัฒจันทร์ส่งเสียงตะโกนขึ้นเป็นเสียงเดียวกันว่า "บราโวส บราโวส" อันหมายถึงว่า "วิเศษที่สุด เก่งที่สุด ยอดที่สุด" 

ทรงกระตุ้นม้าให้ออกเดินเหยาะย่างไปโดยรอบสนาม ผ่านอัฒจันทร์ที่มีผู้คนคอยชม เปิดพระมาลารับเสียงตะโกนเฉลิมพระเกียรติบางคนก็โยนหมวก โดยมีดอกกุหลาบลงมาเกลื่อนสนามตลอดระยะทางที่ทรงเหยาะย่างม้าผ่านไปจนครบรอบ จึงเสด็จลงจากหลังม้ากลับขึ้นไปประทับบนพระที่นั่งตามเดิม
บรรดาพี่เลี้ยงม้าก็เข้ามาจูงม้านั้นออกไปจากสนาม คำพยากรณ์ข้อที่สองและคาถาที่พระปลัดเอี่ยมแห่งวัดโคนอนถวาย ได้สำริดผลประจักษ์แก่พระราชหฤทัย ทรงระลึกถึงพระปลัดเอี่ยมว่า เป็นผู้ที่จงรักภักดีโดยแท้จริง และได้ช่วยให้ทรงผ่านสถานการณ์อันเลวร้ายมาถึงสองครั้งสองครา และทั้งหมดนี้คือจุดเล็ก ๆในเกร็ดพระราชประวัติ เป็นปฐมเหตุแห่งพระบรมรูปทรงม้า หน้าพระราชวังดุสิตที่เล่าขานกันต่อมาช้านาน และยังคงกึกก้องในโสตประสาทของปวงชนชาวไทยต่อไปชั่วกาลปาวสาน

Credit : http://www.oknation.net/blog/nidnhoi/2011/07/26/entry-3

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ใช่เพียงแค่ท่องปาวๆเป็นนกแก้วนกขุนทอง จะต้องรู้ความหมายและนำมาปฎิบัติให้ได้ต่างหากจึงเป็นมงคลแก่ตนและผู้อื่น

    ตอบลบ