นาคเป็นอันมากผู้มาเยี่ยมเยียน พระมหาสัตว์ฟังถ้อยคำนั้นของกาณาริฏฐะนั้นแล้ว ก็พลอยถือเอาผิด ๆ ด้วยคิดว่า กาณาริฏฐะพูดแต่ความจริงเท่านั้น
พระมหาสัตว์นอนป่วยอยู่ ได้ฟังคำนั้นทั้งหมดแล้ว ทั้งพวกก็มาแจ้งให้ท่านทราบอีก ลำดับนั้นท่านคิดว่า อริฏฐะพรรณนาทางผิด ๆ เอาเถอะเราจะทำลายวาทะของกาณาริฏฐะนั้นแล้วจักกระทำบริษัทให้เป็นสัมมาทิฏฐิ ท่านลุกขึ้นอาบน้ำ ประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง นั่งบนธรรมาสน์ สั่งให้นาคบริษัททั้งหมดประชุมกัน ให้เรียกกาณาริฏฐะมาแล้วกล่าวว่า เจ้ากล่าวสรรเสริญสิ่งที่ไม่จริงคือ เวท ยัญ และพราหมณ์ทั้งหลาย ก็ขึ้นชื่อว่า การบูชายัญด้วยวิธีเวทของพราหมณ์ทั้งหลาย ไม่นับว่าเป็นสิ่งประเสริฐเลย และไม่ใช่เป็นทางแห่งสวรรค์ เราจะชี้ข้อไม่เป็นจริงในวาทะของท่าน ดังนี้แล้ว
เมื่อจะเริ่มชื่อวาทะอันว่าด้วยประเภทแห่งยัญจึงกล่าวว่า
ดูก่อนอริฏฐะ ความกาลีคือความปราชัยของนักปราชญ์ทั้งหลายกลับเป็นความมีชัยของคนโง่เขลา ผู้ทรงเวท ไตรเพทเป็นเหมือนอาการของพยับแดดเพราะเป็นของไม่เห็นเสมอไป มีคุณทางหลอกลวง พาเอาคนมีปัญญาไปไม่ได้ ไตรเพทมิได้มีเพื่อป้องกันคนผู้ประทุษร้ายมิตร ผู้ล้างผลาญความเจริญ เหมือนไฟที่คนบำเรอแล้ว ย่อมป้องกันโทสจริตทำกรรมชั่วไม่ได้ ถ้าคนทั้งหลายจะเอาไม้ที่มีอยู่ในโลกทั้งหมดพร้อมทั้งทรัพย์สมบัติของตน คลุกกับหญ้าให้ไฟเผา ไฟอันมีเดชไม่มีใครเทียม เผาสิ่งเหล่านั้นทั้งหมดก็ไม่อิ่ม ใครจะพึงทำให้ไฟซึ่งรู้รส ๒ อย่าง ให้อิ่มได้ นมสดแปรไปได้เป็นธรรมดาคือแปรเป็นนมส้ม แล้วเป็นเนยข้นฉันใด ไฟก็มีความแปรเป็นธรรมดาฉันนั้น ไฟประกอบด้วยความเพียร (ในการสีไฟ) จึงจะเกิดได้ ไม่เคยได้เห็นไฟเข้าไปอยู่ในไม้แห้งและไม้สด คนสีไฟไม่สีไฟก็ไม่เกิด ไฟไม่เกิดเพราะไม่มีคนทำให้เกิด ถ้าแหละไฟพึงอยู่ภายในไม้แห้งและไม้สด ป่าทั้งหมดในโลกก็จะพึงแห้งไป และไม้แห้งก็จะพึงลุกโพลง
ถ้าคนทำบุญได้โดยเอาไม้และหญ้าให้ไฟกิน คนเผาถ่าน คนหุงเกลือ พ่อครัว และคนเผาศพ ก็จะพึงได้ทำบุญ ถ้าแม้พราหมณ์เหล่านี้ทำบุญได้เพราะการเลี้ยงไฟเพราะเรียนมนต์ เพราะเลี้ยงให้อิ่มหนำ ในโลกนี้ใคร ๆ ผู้เอาของให้ไฟกิน จะชื่อว่าทำบุญหาไม่ เพราะเหตุไรเล่า เพราะไฟเป็นสิ่งอันโลกยำเกรง รู้รสสองอย่างพึงกินได้มาก ทั้งเป็นของเหม็น มีกลิ่นอันไม่น่าฟูใจ คนเป็นอันมากไม่ชอบ พวกมนุษย์ละเว้น และเป็นของไม่ประเสริฐ คนบางพวกนับถือไฟเป็นเทวดา ส่วนพวกมิลักขุนับถือน้ำเป็นเทวดา คนเหล่านี้ทั้งหมดนี้พูดผิด
ไฟไม่ใช่เทพเจ้าตนใดตนหนึ่ง และน้ำไม่ใช่เทพเจ้าองค์ใดองค์หนึ่ง โลกบำเรอไฟซึ่งไม่มีอินทรีย์ ไม่มีกายจะรู้สึกได้ ส่องแสงสว่างเป็นเครื่องทำการงานของประชาชน เมื่อยังทำบาปกรรมอยู่ จะพึงไปสุคติได้อย่างไร พวกพราหมณ์ผู้ต้องการเลี้ยงชีวิตในโลกนี้กล่าวว่า พระพรหมครอบงำได้ทั้งหมด และว่าพระพรหมบำเรอไฟ พระพรหมมีอานุภาพกว่าทุกสิ่ง และมีอำนาจไม่มีใครสร้าง กลับไปไหว้ไฟที่ตนสร้างเพื่อประโยชน์อะไร คำของพวกพราหมณ์น่าหัวเราะเยาะไม่ควรแก่การเพ่งเล็ง ไม่เป็นความจริง พวกพราหมณ์ในปางก่อนก่อขึ้นไว้ เพราะเหตุแห่งสักการะพราหมณ์เหล่านั้น เมื่อลาภและสักการะเกิดขึ้น จึงร้อยกรองยัญพิธีว่าเป็นธรรมสงบระงับ ด้วยการฆ่าสัตว์บูชายัญ
พวกพราหมณ์ถือการทรงไตรเพท พวกกษัตริย์ปกครองแผ่นดิน พวกแพศย์ยึดการไถนา และพวกศูทรยึดการบำเรอ วรรณะทั้ง ๔ เข้าถึงการงานตามที่อ้างมา เฉพาะอย่าง ๆ นั้น กล่าวกันว่า มหาพรหมผู้มีอำนาจจัดไว้ ถ้าคำนี้พึงเป็นคำจริงเหมือนดังที่พวกพราหมณ์กล่าวไว้ คนที่ไม่ใช่กษัตริย์ ไม่พึงได้ราชสมบัติ ผู้ที่ไม่ใช่พราหมณ์ไม่พึงศึกษามนต์ คนนอกจากแพศย์ไม่พึงทำการไถนาเลย และพวกศูทรก็ไม่พึงพ้นจากการรับใช้ผู้อื่น เพราะคำนี้เป็นคำไม่จริง เป็นคำเท็จ พวกคนหาเลี้ยงท้องกล่าวไว้ คนไม่มีปัญญาหลงเชื่อบัณฑิตทั้งหลายย่อมเห็นด้วยตนเอง เพราะพวกกษัตริย์ย่อมเก็บส่วยจากพวกแพศย์ พวกพราหมณ์ พวกพราหมณ์ถือศัสตราเที่ยวฆ่าสัตว์ เพราะเหตุไร พระพรหมจึงไม่ทำโลก อันแตกต่างกันเช่นนั้นให้ตรงเสีย
ถ้าพระพรหมเป็นใหญ่ เป็นผู้เจริญ ในโลกทั้งปวง เป็นเจ้าชีวิตของหมู่สัตว์ทำไมจึงจัดโลกทั้งปวงให้มีความทุกข์ ทำไมจึงไม่ทำโลกทั้งปวงให้มีความสุข ถ้าพรหมนั้นเป็นใหญ่ เป็นผู้เจริญในโลกทั้งปวง เป็นเจ้าชีวิตของหมู่สัตว์ เหตุไรจึงทำโลกโดยไม่เป็นธรรม คือมารยาและเจรจาคำเท็จมัวเมา ถ้าพระพรหมนั้นเป็นผู้ใหญ่ก็เป็นผู้เจริญในโลกทั้งปวง เป็นเจ้าชีวิตของหมู่สัตว์ ก็ชื่อว่าเป็นเจ้าชีวิตของหมู่สัตว์ ก็ชื่อว่าเป็นเจ้าชีวิตอยุติธรรม เมื่อธรรมมีอยู่พรหมนั้นก็จัดไม่เที่ยงธรรม ตั๊กแตน ผีเสื้อ งู แมลงภู่ หนอนและแมลงวัน ใครฆ่าแล้วย่อมบริสุทธิ์ ธรรมเหล่านี้ ไม่ใช่ของพระอริยะ เป็นธรรมผิด ๆ ของชาวกัมโพชรัฐเป็นอันมาก
บัดนี้ พระภูริทัตเมื่อจะแสดงความไม่จริงแห่งธรรมเหล่านั้นจึงกล่าวเป็นว่า ถ้าแหละคนฆ่าเขาแล้วย่อมบริสุทธิ์ และผู้ถูกฆ่าย่อมเข้าถึงแดนสวรรค์ พวกพราหมณ์ก็พึงฆ่าพวกพราหมณ์ด้วยกันเสียซิ หรือพึงฆ่าพวกที่หลงเชื่อถ้อยคำ ของพราหมณ์ด้วยกันเสียซิ พวกเนื้อ ปศุสัตว์และโคตัวไหน ๆ ไม่ได้อ้อนวอนเพื่อให้ฆ่าตนเลยล้วนแต่ดิ้นรนต้องการมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ ชนทั้งหลายย่อมนำเอาสัตว์และปศุสัตว์เข้าผูกที่เสายัญ พวกคนพาล ย่อมยื่นหน้าเข้าไปที่เสาบูชายัญ เป็นที่ผูกสัตว์ด้วยการพรรณนาต่าง ๆ ว่า เสายัญนี้จะให้สิ่งที่น่าใคร่แก่ท่าน ในโลกหน้า จะเป็นของยั่งยืนในสัมปรายภพ
ถ้าว่าบุคคลพึงได้แก้วมณี สังข์ มุกดา ข้าวเปลือกทรัพย์ เงิน ทอง ที่เสายัญ ในไม้แห้ง และไม้สดไซร้อนึ่ง เสายัญจะพึงให้ สิ่งที่น่าใคร่ทั้งปวงในไตรทิพย์ได้ พราหมณ์เท่านั้นพึงบูชายัญ ผู้ที่ไม่ใช่พราหมณ์ก็จะไม่พึงให้พราหมณ์บูชายัญอะไร ๆ เลย แก้วมณีสังข์ มุกดา ข้าวเปลือก ทรัพย์ เงิน ทอง จักมีที่เสายัญ ที่ไม้แห้ง ที่ไม้สด ที่ไหน เสายัญจะพึงให้สิ่งที่น่าใคร่ทั้งปวง ในไตรทิพย์ที่ไหน พราหมณ์เหล่านี้เป็นคนโอ้อวด หยาบช้า โง่เขลา โลภจัดยื่นหน้าเข้าไปด้วยการพรรณนาต่าง ๆ ว่า จงถือเอาไฟมา และจงให้ทรัพย์แก่เรา แต่นั้นท่านให้สิ่งที่น่าใคร่ทั้งปวงแล้ว จักมีความสุข พวกที่โกนผมโกนหนวดและตัดเล็บ พาพระราชาหรือมหาอำมาตย์เข้าไปในโรงบูชาไฟ ยื่นหน้าเข้าไปด้วยการพรรณนาต่าง ๆ ย่อมถือเอาทรัพย์ด้วยเวท พวกพราหมณ์ผู้โกหก พอหลอกลวงได้คนหนึ่งก็มาประชุมกินกันเป็นอันมากเหมือนฝูงกาตอมนกเค้า หลอกเอาจนเกลี้ยงแล้ว เก็บไว้ที่บริเวณบูชายัญ พวกพราหมณ์ลวงผู้นั้นได้คนหนึ่งอย่างนี้แล้ว ก็พากันมาเป็นอันมาก ใช้ความพยายามล่อหลอกพรรณนา ด้วยสิ่งที่ไม่แลเห็นปล้นเอาทรัพย์ที่แลเห็นไป เหมือนพวกราชบุรุษที่พระราชาสอนให้เก็บส่วย เก็บเอาทรัพย์ของพระราชาไปฉะนั้น
ดูก่อนอริฏฐะ พราหมณ์เช่นนั้นเป็นเหมือนโจร ไม่ใช่สัตบุรุษ เป็นผู้ควรจะฆ่าเสีย แต่ไม่มีใครฆ่าในโลก พวกพราหมณ์กล่าวว่า ไม้ทองหลางเป็นแขนขวาของพระอินทร์ จึงตัดเอาไม้ทองหลางมาใช้ในยัญนี้ ถ้าคำนั้นเป็นคำจริง พระอินทร์ก็แขนขาด ทำไมพวกพระอินทร์จึงชนะพวกอสูร ด้วยกำลังแขนนั้นได้ คำนั้นเป็นคำเท็จ พระอินทร์ยังมีแขนพร้อมเป็นเทวดาชั้นดีเลิศ ไม่มีใครฆ่าได้ กำจัดอสูรได้มนต์ของพราหมณ์เหล่านี้เหลวเปล่า หลอกลวงกันให้เห็นได้เฉพาะในโลกนี้
ภูเขามาลาคิรี ขุนเขาหิมวันต์ภูเขาวิชฌะ ภูเขาสุทัสสนะ ภูเขานิสภะ ภูเขากากเวรุภูเขาเหล่านี้และภูเขาใหญ่อื่น ๆ ที่กล่าวกันว่า พวกพราหมณ์ผู้บูชายัญก่อสร้างไว้ ที่กล่าวกันว่า พวกพราหมณ์ผู้บูชายัญเอาอิฐเช่นใดมาสร้างภูเขา อิฐเช่นนั้นก็ไม่ใช่ธรรมชาติของภูเขา ภูเขาเป็นอย่างอื่น ไม่หวั่นไหว เห็นได้ชัด ๆ ว่าเป็นหิน ไม่ใช่อิฐ เป็นหินมานมนาน เหล็กและโลหะย่อมไม่เกิดในอิฐ ที่พวกพราหมณ์สรรเสริญยัญกล่าวไว้ว่า ผู้บูชายัญก่อสร้างไว้
ชนทั้งหลายเรียกพราหมณ์ผู้ทรงเวท ผู้เข้าถึงคุณแห่งมนต์ ผู้มีตบะในโลกนี้ว่า ผู้ประกอบในการขอ มหาสมุทรซัดท่วมพราหมณ์นั้น ผู้กำลังตระเตรียมน้ำอยู่ที่ฝั่งมหาสมุทร เพราะเหตุนั้น น้ำในมหาสมุทรจึงดื่มไม่ได้
แม่น้ำพัดเอาพราหมณ์ ผู้เรียนเวท ทรงมนต์ ไปเกินกว่าพัน เหตุไรน้ำในแม่น้ำจึงมีรสไม่เสีย มหาสมุทรเท่านั้นดื่มไม่ได้ บ่อน้ำทั้งหลายในมนุษย์โลกนี้ ที่เขาขุดไว้เกิดเป็นน้ำเค็มก็มี แต่ไม่ใช่เค็มเพราะท่วมพราหมณ์ตาย น้ำในบ่อเหล่านั้นดื่มไม่ได้ เป็นน้ำรู้รสสองอย่าง ครั้งดึกดำบรรพ์ ตั้งแต่ปฐมกัป ใครเป็นภรรยาใคร ใครได้ให้มนุษย์เกิดขึ้นก่อน โดยธรรมแม้นั้น ใคร ๆ ไม่เลวไปกว่าใคร ท่านกล่าวจำแนกส่วนไว้อย่างนี้ แม้ลูกคนจัณฑาลก็พึงเรียนเวท สวดมนต์ได้ (ถ้า) เป็นคนฉลาด มีความคิด หัวของเขาก็ไม่พึงแตกเจ็ดเสี่ยง มนต์เหล่านี้พวกพรหมสร้างไว้เพื่อฆ่าตน เป็นการสร้างแต่ปาก เป็นการสร้างยึดถือไว้ด้วยความโลภ เปลื้องได้ยาก เข้าถึงคลอง ด้วยคำของพวกพราหมณ์ ผู้แต่งกาพย์กลอน จิตของพวกคนโง่ ยังหลงใหลในทางลุ่ม ๆ ดอน ๆ คนไม่มีปัญญาเชื่อเอาจริงจัง ราชสีห์ เสีอโคร่ง เสือเหลือง มีกำลังอย่างลูกผู้ชาย พราหมณ์ไม่มีกำลังเช่นนั้นเลย ความเป็นมนุษย์ของพราหมณ์เหล่านั้น พึงเห็นเหมือนของโค ชาติของพราหมณ์เหล่านั้นเท่านั้นไม่มีใครเสมอ สิ่งอื่น ๆ เสมอกันหมด
ถ้าแหละพระราชาทรงชำนะหมู่ศัตรูได้ โดยลำพังพระองค์เอง ประชาราษฏร์ของพระราชานั้นพึงมีสุขอยู่เสมอ มนต์ของกษัตริย์ และไตรเพทเหล่านี้ มีความหมายเสมอกัน ถ้าไม่วินิจฉัยความแห่งมนต์ และไตรเพทนั้นก็ไม่รู้ เหมือนทางที่น้ำท่วม มนต์ของกษัตริย์และไตรเพทเหล่านี้ มีความหมายเสมอกัน ลาภ ไม่มีลาภยศ ไม่มียศ ทั้งหมดเทียวเป็นธรรมดาของวรรณะทั้ง ๔นั้น พวกคฤหบดี ใช้คนจำนวนมากให้ทำการงานในแผ่นดิน เพราะเหตุแห่งทรัพย์และข้าวเปลือก ฉันใดแม้พวกพราหมณ์ผู้ทรงไตรเพท ก็ฉันนั้น ย่อมใช้คนเป็นจำนวนมาก ให้ทำการงานในแผ่นดิน ในวันนี้พราหมณ์เหล่านั้นเสมอกันกับคฤหบดี มีความขวนขวายประกอบในกามคุณเป็นนิตย์ ใช้คนจำนวนมากให้ทำการงานในแผ่นดินเหมือนกัน พราหมณ์เหล่านั้นเป็นผู้รู้รสสองอย่าง หาปัญญามิได้
พระมหาสัตว์ ครั้นทำลายวาทะของพราหมณ์เหล่านั้นแล้ว ให้ตั้งวาทะของพระองค์ด้วยประการฉะนี้ นาคบริษัททั้งหมดนั้น ได้ฟังธรรมกถาของพระมหาสัตว์แล้ว ก็พากันเกิดโสมนัส ฝ่ายพระมหาสัตว์จึงสั่งให้นาคบริษัท นำพราหมณ์เนสาทออกไปจากนาคพิภพ แม้เพียงการบริภาษก็มิได้กระทำแก่พราหมณ์นั้น
จบยัญญเภทกัณฑ์
ฝ่ายพระเจ้าสาครพรหมทัต มิได้ล่วงเลยวันที่ทรงกำหนดไว้ เสด็จไปยังพระตำหนักของพระราชบิดา พร้อมด้วยจตุรงคเสนา ส่วนพระมหาสัตว์ก็สั่งให้ตีกลองร้องประกาศว่า เราจะไปเฝ้าสมเด็จพระเจ้าลุง และพระเจ้าตาของเราแล้วก็เสด็จขึ้นจากแม่น้ำยมุนาด้วยสิริอันงามเลิศ มุ่งไปยังอาศรมบทนั้น พี่น้องนอกนั้นกับชนกชนนี ก็ติดตามไปเบื้องหลัง ในขณะนั้น พระเจ้าสาครพรหมทัต ทอดพระเนตรเห็นพระมหาสัตว์ ผู้มากับนาคบริษัทเป็นอันมากทรงจำไม่ได้ จึงทูลถามพระราชบิดา
พระดาบสผู้มีฤทธิ์ ได้อภิญญา ถูกพระเจ้าสาครพรหมทัต ผู้เป็นโอรสทูลถามอย่างนี้ จึงบอกว่า ดูก่อนพ่อ ผู้ที่มาเหล่านั้น คือนาคลูกท้าวธตรฐ หลานของเจ้า
เมื่อพระราชฤๅษี และพระเจ้าสาครพรหมทัต ตรัสอยู่อย่างนี้ นาคบริษัททั้งหลาย จึงพากันถวายบังคมบาทพระดาบส แล้วนั่ง ณ ที่อันสมควรส่วนข้างหนึ่ง ฝ่ายนางสมุททชาก็ถวายบังคมพระราชบิดา และพระราชภาดาแล้ว ก็ปริเทวนากรรแสงไห้ แล้วก็พานาคบริษัทกลับไปยังนาคพิภพ
ฝ่ายพระเจ้าสาครพรหมทัตประทับ ณ ที่นั้นนั่นเอง สองสามวันจึงถวายบังคมลา ขมาพระราชบิดาแล้วก็กลับยังกรุงพาราณสี นางสมุททชาเทวีก็สิ้นชีพในนาคพิภพนั้นนั่นเอง
ฝ่ายพระโพธิสัตว์ ก็รักษาศีลอยู่จนตลอดชีวิต ในที่สุดแห่งชนมายุก็ได้ดำเนินไปในทางสวรรค์ กับนาคบริษัท
พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงตรัสว่า"ดูก่อนอุบาสกทั้งหลาย โบราณบัณฑิต เมื่อพระพุทธเจ้ายังไม่เสด็จอุบัติขึ้น ก็ยังทรงสละนาคสมบัติเห็นปานนี้ กระทำอุโบสถกรรมดังนี้ จึงประชุมชาดกว่ามารดาบิดา (ของพระภูริทัต) ในกาลนั้น ได้มาเป็นศากยราชตระกูล พราหมณ์เนสาทมาเป็นพระเทวทัต โสมทัตมาเป็นพระอานนท์ นางอัจจิมุขี มาเป็นนางอุบลวรรณา สุทัสสนะเป็นพระสารีบุตร สุโภคะมาเป็นพระโมคคัลลานะ กาณาริฏฐะ มาเป็นสุนักขัตตลิจฉวี ภูริทัตมาเป็นเราผู้ตรัสรู้ชอบด้วยตนเอง"
คติธรรม : บำเพ็ญศีลบารมี
"ความโลภนั้นเป็นสิ่งชั่วร้ายเช่นเดียวกับการเนรคุณ แต่ความอดทนย่อมประเสริฐยิ่งนักแล้ว "
จบบริบูรณ์
ขอบพระคุณที่มา facebook
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น