วันเสาร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2558

พระอุปคุตหรือพระบัวเข็ม



′พระอุปคุต′ เป็นรูปเคารพที่สร้างขึ้นแทนพระอรหันต์สาวกสำคัญรูปหนึ่ง ซึ่งได้รับการยกย่องว่า มีความเป็นเลิศทางอิทธิฤทธิ์สมัยหลังพุทธกาล คำว่า ′พระอุปคุต′ เป็นภาษาบาลี ภาษาสันสกฤตจะเขียนว่า ′อุปคุปต์′ หมายความว่า ผู้คุ้มครองมั่นคง
นอกจากนี้ยังมีการเรียกขานกันว่า พระอุปคุตเถระ หรือพระเถรอุปคุต อันเป็นสัญลักษณ์ที่บอกถึงความมั่นคงในพระธรรมวินัย และชื่ออื่นๆ อีก เช่น พระนาคอุปคุต พระกีสนาค อุปคุต เป็นต้น

พระอุปคุตเถระ เป็นที่เคารพนับถือของ ชาวพม่า รามัญ เป็นจำนวนมาก จึงมีการสร้างรูปบูชาขึ้นมา โดยจะเห็นได้ว่าพระบูชาพระอุปคุตที่เป็นศิลปะแบบพม่านั้นมีอยู่มากมาย   สำหรับชาวล้านนาจะรู้จักพระอุปคุตในนามของ ′ผู้ปกป้องคุ้มครองภัย′ โดยเฉพาะมีปอยหลวงหรืองานพิธีกรรม จะมีการอาราธนาพระอุปคุตขึ้นจากแม่น้ำมาคุ้มครองการจัดงานให้ลุล่วงด้วยดี ในบางท้องถิ่นยังเชื่อว่า พระอุปคุตจะตะแหลง (แปลงร่าง) เป็น ′สามเณรน้อย′ ขึ้นมาบิณฑบาตใน วันเป็งปุ๊ด หรือเพ็ญพุธ (วันเพ็ญที่ตรงกับวันพุธ) เริ่มตั้งแต่ตีหนึ่งของวันพุธ ผู้คนจึงมักเห็นสามเณรน้อยเดิน บิณฑบาตไปตามถนนหนทาง ตลอดจนท่าน้ำต่างๆ จนกระทั่ง ตี๋นฟ้ายก หรือแสงเงินแสงทองออกมา จึงเนรมิตกายหายไป

" เชื่อกันว่าหากผู้ใดมีบุญบารมีได้ใส่บาตรพระอุปคุตจะทำให้ร่ำรวยเงินทอง ปราศจากภัยทั้งปวง มีสมาธิจิตดี มีชีวิตที่ป็นสุข"

จากความเชื่อและการนับถือดังกล่าวจึงมีผู้สร้าง ′พระอุปคุต′ ในปางต่างๆ ที่เป็นที่นิยมกันมากได้แก่ ปางล้วงบาตร หมายถึง กิ๋นบ่เสี้ยง หรือกินไม่หมด ให้คุณทางทรัพย์สินเงินทอง ความร่ำรวย ปางห้ามมาร ให้คุณในทางคุ้มครองป้องกันภัยต่างๆ และ ปางสมาธิ หรือพระบัวเข็ม ซึ่งให้คุณในด้านสติปัญญาดี จิตใจผ่องใส ดำเนินชีวิตเป็นสุข ด้วยปัญญาบารมี

ในขณะที่สยามประเทศเชื่อเรื่องการบูชาแม่น้ำคงคาและพระแม่คงคา ตลอดจนประเพณีการจองเปรียง หรือตำนานของนางพระยากาเผือก อันเป็นการผสมผสานระหว่างคติฮินดูกับพุทธศาสนานั้น ชาวมอญกลับมีความเชื่อว่าประเพณีลอยกระทงผูกพันอยู่กับพระอุปคุตเถระ ซึ่งเป็นพระมหาเถระซึ่งทรงอิทธิฤทธิ์ ปรากฏเรื่องราวในพุทธศาสนาตอนหนึ่งว่า "พระอุปคุปต์บำเพ็ญธรรมอยู่กลางมหานทีอันกว้างใหญ่ในโลหะปราสาท เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราช กษัตริย์ที่ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาในอินเดีย ทรงโปรดฯให้กระทำสังคายนาพระไตรปิฎกเป็นครั้งที่ 3 แต่มีพญามารเข้ามาก่อกวนมณฑลพิธี จนต้องอาราธนาพระอุปคุปต์มาปราบ ด้วยการเนรมิตซากสุนัขเน่าเหม็นห้อยติดคอพญามาร และทำอย่างไรก็ไม่สามารถแก้หลุดได้ จนพญามารต้องยอมศิโรราบ ทำให้การสังคายนาพระไตรปิฎกสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี"

ธรรมเนียมการบูชาพระอุปคุปต์แพร่หลายในหมู่ชาวพม่า มีการสร้างรูปบูชาพระอุปคุปต์ใน ลักษณาการพระพุทธรูปไม้นั่งอยู่กลางน้ำ บนพระเศียรคลุมด้วยใบบัว และตามร่างกายมีเข็มปักติดอยู่ทั่วพระวรกาย ที่รู้จักกันแพร่หลายว่า ′พระ บัวเข็ม′ นอกจากนี้ ชนชาติเขมรยังรับคติความเชื่อเรื่องพระอุปคุปต์มาจำลองเป็นเทวประติมา กรรม ขนาดเล็ก ทำด้วยสัมฤทธิ์ เป็นรูปองค์พระนั่งอยู่ในเปลือกหอยลักษณะต่างๆ และเมื่อจะจัดงานพิธีสำคัญต่างๆ ก็มักจะมีพิธีอธิษฐานบูชาพระอุปคุต เป็นเบื้องต้น เพื่อให้ช่วยคุ้ม ครองให้งานนั้นๆ สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

รูปลักษณะของพระอุปคุตที่เป็นรูปเคารพโดยทั่วไป มักทำเป็นรูปองค์พระนั่งอยู่ภายในหอยสังข์ มีขนาดศีรษะค่อนข้างใหญ่ เน้นส่วนคิ้ว ตา จมูกให้เห็นชัดเจน และเนื่องจากที่อาศัยจำพรรษาของพระอุปคุตอยู่ในปราสาทแก้วกลางมหาสมุทร จึงมักทำ ′รูปสัตว์น้ำ′ เป็นสัญลักษณ์ประกอบอยู่ด้วยเสมอ

วิธีการตั้งบูชาพระอุปคุต หรือพระบัวเข็ม จะตั้งต่ำกว่าพระพุทธ เนื่องจากเป็นพระอรหันต์สาวก และนิยมการตั้งบนฐานรองรับ อยู่กลางภาชนะใส่น้ำ เป็นการจำลองว่าท่านจำพรรษาอยู่ในมหาสมุทร แล้วใช้ดอกมะลิลอยในน้ำบูชา

เรื่องราวของพระบัวเข็มตามพระพุทธประวัติ ก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพาน  พระผู้มีพระภาคเจ้าได้เทศนาโปรดนาคชื่อ อปลาละ   โปรดช่างปั้นหม้อ หญิงจัณฑาล และนางโคบาลแล้ว  เสด็จสู่เมืองมถุรา ณ ที่นั้น  ได้มีพุทธดำรัสกับพระอานนท์ว่า…

“ดูก่อนอานนท์ ณ นครมถุรานี้ อีกร้อยปีแต่ตถาคตนิพพานแล้ว
จะมีคนขายน้ำหอมชื่อ คุปตะ เขาจะมีลูกชื่อ อุปคุต   ซึ่งจะได้เป็นอนุพุทธ ท่านผู้นี้จะทำงานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต่อไป   เทศนาของท่านผู้นี้จะช่วยให้ภิกษุเป็นอันมาก   เอาชนะกิเลสมารได้ จนเข้าถึงอรหันตผล พระอรหันต์จะมีมาก
จนมีปริมาณเต็มถ้ำ ซึ่งยาว ๑๘ ศอก กว้าง ๑๒ ศอก  แต่ละรูปจะถือไม้ศาลากายาว ๔ นิ้ว   อานนท์นอกไปจากนี้แล้ว พระอุปคุตรูปนี้ จะเป็น ‘เอตทัคคะ’  ในบรรดาธรรมถึกทั้งหลายของเรา”

“พระอุปคุต” จึงเป็นพระอรหันต์องค์สำคัญหลังสมัยพุทธกาล  ท่านบำเพ็ญเพียรจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ขีณาสพ  สำเร็จอภิญญาต่างๆ เป็น ‘พระธรรมกถึก’ คือ ผู้กล่าวสอนธรรม คือ ผู้แสดงธรรมหรือนักเทศน์   การเทศนาแสดงธรรมของท่าน แม้ในวันเดียวกันก็ทำให้พระภิกษุจำนวน ๑๘,๐๐๐ รูป   ได้บรรลุสำเร็จเป็นพระอรหันต์ขีณาสพเช่นเดียวกัน

ตามตำราและคำบอกเล่าของครูบาอาจารย์ผู้สำเร็จธรรม กล่าวว่า พระอุปคุต ท่านมีปฏิปทาดำเนินไปในทางสันโดษ มักน้อย  เนรมิตเรือนแก้วขึ้นในท้องทะเลหลวง (สะดือทะเล)  เข้าฌานสมาบัติเสวยวิมุตติสุขอยู่ในมหาสมุทรอันกว้างใหญ่  ท่านจะออกจากสมาบัติ ขึ้นมาบิณฑบาตในโลกมนุษย์  เฉพาะในวันเพ็ญพุธ (วันเพ็ญที่ตรงกับวันพุธ)   แล้วจะลงไปอยู่ประจำที่กุฏิแก้วในท้องทะเลหลวงเช่นเดิม   ดังนั้น เมื่อวันเพ็ญพุธมาถึง ชาวบ้านจึงมักตื่นกลางดึก เพื่อเตรียมอาหารไว้ใส่บาตรพระอุปคุต
จนเกิดประเพณี ‘ตักบาตรเที่ยงคืน’  โดยมีคติความเชื่อว่า  หากผู้ใดได้ทำบุญตักบาตรพระอุปคุตแล้ว จะได้อานิสงส์มากล้น เกิดโชคลาภ และความเป็นสิริมงคลในชีวิตอย่างประมาณมิได้  


การบูชา“พระอุปคุต” เพื่อความสำเร็จในชีวิต และความร่ำรวย
(เขียน โดย ธ. ธรรมรักษ์)
 “ผู้ใด ได้ใส่บาตรให้แก่ “พระอุปคุต” หรือบูชาท่านอย่างสม่ำเสมอ ก็จะพบกับชีวิตที่ประสบความสำเร็จ เจริญรุ่งเรือง ร่ำรวยได้อย่างรวดเร็ว” การบูชา “พระอุปคุต” เพื่อความสำเร็จในชีวิต และความร่ำรวย เพราะความเชื่อดังกล่าวจึงเป็นที่มาของพิธีการตักบาตรและการบูชา ซึ่งเป็นความเชื่อมายาวนานว่า “เป็นบุญใหญ่” จะทำให้พบกับความสำเร็จและความร่ำรวยนั้นจึงเป็นเสมือนเคล็ดลับ ชนิดที่พลิกชีวิตได้เพียงแค่ข้ามวัน เลยทีเดียว! หลายท่านคงสงสัยว่า พระอุปคุต ท่านคือใคร หลายๆ คนอาจจะยังไม่รู้จัก หรือไม่เข้าใจ ว่าทำไมเมื่อตักบาตรแด่ท่าน หรือบูชาท่านจึงจะพบกับความสำเร็จและร่ำรวย  จึงขอนำตำนานของท่านมาให้พิจารณากัน ตามความเชื่อในทางพุทธศาสนา ต่างศรัทธาต่อพิธีการทำบุญวันพระใหญ่ในคืนวันขึ้น 15 ค่ำซึ่งตรงกับวันพุธ อันจะมีสิ่งมหัศจรรย์บังเกิด นั่นก็คือ พระอุปคุต ท่านออกมาบิณฑบาตโปรดสัตว์ หลังจากบำเพ็ญธรรมเข้าฌานสมาบัติเสวยวิมุตติสุข ณ โลกใต้สมุทร ภายในปราสาทแก้วที่เนรมิตขึ้น เหนือรัตนะบัลลังก์ ในค่ำคืนนั้น ท่านจะจำแลงแปลงกายเป็นเณร ออกจากสมาบัติ ขึ้นมาบิณฑบาตบนโลกมนุษย์โปรดสัตว์ผู้ทุกข์ยาก จึงนำมาซึ่งความเชื่อในเรื่องนี้จนเกิดเป็นประเพณี “ตักบาตรเที่ยงคืน” อันเป็นพิธีที่ถือปฏิบัติมาหลายร้อยปี ตามวัดต่างๆ  ทั่วประเทศและในประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา ดังเช่น ในจังหวัดเชียงใหม่ ของประเทศไทย ในวันเวลาดังกล่าว จะมีผู้คนจำนวนหลายพันคนจะมารวมตัวกันที่วัดอุปคุต เริ่มจากบริเวณสองข้างถนนเชิงสะพานนวรัตน์ ไล่ไปเป็นแถวยาวเหยียด เพื่อที่จะทำการตักบาตรพระหลายพันรูปซึ่งนิมนต์มาจากท้องที่ต่างๆ ทั้งในเมืองและนอกเมือง เมื่อเข้าสู่วันใหม่คือเวลา 00.00 น. ก็จะถึงเวลาอันเป็นมงคลฤกษ์ ผู้ศรัทธาในเนื้อนาบุญนับพันจะร่วมกันตักบาตรโดยพร้อมเพียงกัน สร้างความอิ่มอกอิ่มใจเพราะชื่อว่า การตักบาตรในค่ำคืนกับพระสงฆ์ที่สมมติว่า เป็นพระอุปคุตนี้ หากใครได้ตักบาตรและอธิษฐานขอพรสิ่งใดไว้ ก็จะสำเร็จผลได้ง่ายว่าการอธิษฐานในเวลาปรกติ ในอดีตกาลนั้น กล่าวกันว่า ผู้ใดก็ตามที่สามารถใส่บาตรแด่พระอุปคุตได้นั้น จึงต้องเป็นผู้ที่กระทำกรรมดีมามากมาย หรือเป็นผู้ทุกข์ทนและร้อนใจ ซึ่งพระอุปคุตต้องการโปรดสัตว์ โดยในปัจจุบันนี้ครูบาอาจารย์ท่านกล่าวว่า นี่เป็นการใช้ศรัทธาในทางพระพุทธศาสนา จูงใจให้ผู้คนทำทานโดยใช้ความศรัทธาในการใส่บาตรพระอุปคุตเป็นที่ตั้ง แต่ความจริงแล้ว แม้ไม่ใช่เป็นการใส่บาตรแด่พระอุปคุต แต่เป็นการใส่บาตรธรรมดาที่ปฏิบัติได้ในทุกเช้าตรู่ รวมถึงทำทานทั่วๆ ไป ก็ทำให้อุปสรรค ปัญหาต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิตได้ลดน้อยถอดถอยลงไป เพราะนี่คือ การทำบุญ กระทำกรรมดี เพื่ออุทิศบุญกุศล แด่มีพระคุณที่ล่วงลับ และเพื่อนำอานิสงส์บุญนั้นไปขออโหสิกรรมต่อเจ้ากรรมนายเวร  ยิ่งเสริมด้วยพลังบุญเพื่อเดินบันไดขั้นที่สองแห่งการรักษาศีล และสู่บันไดขั้นที่สาม คือ เจริญภาวนา ก็จะนำมาซึ่งความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตนำไปสู่ความประสบความสำเร็จได้ทุกประการ ด้วยภูมิปัญญาจากศรัทธาของบรรพบุรุษ ที่มีมายาวนาน จึงได้มีการสร้างเคล็ดแห่งการบูชาประอุปคุตขึ้นมาโดยไม่ต้องรอฤกษ์ รอวันเวลา ผ่านการสร้างองค์พระบูชาที่เรียกว่า “พระอุปคุต” หรือที่เรียกกันในบางพื้นที่ว่า “พระบัวเข็ม”   การตั้งบูชา โดยมีวิธีการบูชา ด้วยการอัญเชิญพระอุปคุต ตั้งบนฐานรองรับ อยู่กลางภาชนะใส่น้ำ อันเป็นการจำลองในการที่ท่านจำพรรษาอยู่ในมหาสมุทร พร้อมด้วยดอกมะลิหอมลอยอยู่ เพื่อเป็นเครื่องสักการบูชา แต่ที่สำคัญ ในตำแหน่งการจัดวางขององค์ท่าน ต้องตั้งต่ำกว่าพระพุทธรูป  เพราะพระอุปคุตท่านเป็นพระอรหันต์ ผู้เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า

 เคล็ดวิธีบูชาพระอุปคุต
1. ถวายน้ำสะอาดวันละ 1 แก้วที่สะอาด จุดธูปหอม 3 ดอก (หรือจะธูปไฟฟ้าสมัยใหม่ก็ได้)
2. ดอกมะลิหรือดอกบัวขาว ลอยอยู่ในภาชนะที่ใส่น้ำ
3. ถวายข้าว, กล้วย, ขนม ทุกเช้า หรือในทุกวันพระ แต่ห้ามถวายประเภทสิ่งมีชีวิต เพราะท่านไม่โปรดการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ซึ่งเป็นกรรมที่ผูกพัน
4. เวลาจัดงานหรือมีพิธีการใด  ให้จัดโต๊ะพิเศษ อันเชิญพระอุปคุตมาตั้งไว้ พร้อมบูชาเครื่องสักการะตลอดงาน ระวังอย่าให้ไฟที่ตะบูชาและในงานดับขณะกำลังทำพิธี คำบูชา เพื่อขอโชคลาภจากพระอุปคุต เริ่มต้นด้วยการจุดธูปเทียนบูชา พร้อมกับดอกไม้หอม เครื่องหอมน้ำหอมต่างๆ เทหยดใส่ในขันน้ำมนต์ ณ ที่บูชาพระในบ้าน ในร้านค้า หรืออาคารสำนักงาน จากนั้นอธิษฐาน ขอให้กลิ่นควันธูปเทียน โดนลมพัดไปทางไหน ของให้ดลใจผู้คนเข้ามาอุดหนุนตลอด ขอให้ดำเนินกิจการด้วยความราบรื่น ร่ำรวย และมีความสำเร็จสมปรารถนาทุกประการ

 เมื่ออธิษฐานจุดธูปเทียนบูชาแล้ว ให้สวด นะโม 1 จบ และสวดคำบูชาขอลาภพระอุปคุต 1 จบ

(หากจะให้เกิดผลเร็วให้สวด 5 จบทุกเช้าเย็นและเวลาที่ว่าง) ดังต่อไปนี้ -ตั้งนะโม 3 จบ -คำบูชาขอลาภพระอุปคุต
" มหาอุปคุตโต จะมหาลาโภ พุทโธลาภัง สัพเพชะนา พะหูชะนา ราชาปุริโส อิถีโยมานัง นะโมโจรา เมตตาจิตตัง เอหิจิตติจิตตัง ปิยังมะมะ สะเทวะกัง สะพรหมมะกัง มะนุสสานัง สัพพะลาภัง ภะวันตุเม ฯ   เอหิจิตติ จิตตังพันธะนัง อุปะคุตะ จะมหาเถโร พุทธะสาวะกะ อานุภาเวนะ มาระวิชะยะ นิระภะยะ เตชะปุญณะตา จะเทวะตานัมปิ มะนุสสานันปิ เอหิจิตตัง ปิยังมะมะ อิมังกายะ พันธะนัง อะทิถามิ ปะอัยยิสสุตัง อุปัจสะอิ ฯ "
(ในบางแห่งใช้คาถาบทนี้ “ อุปะคุตโต จะ มะหาเถโร สัมพุทเธนะ วิยากะโต มารัญจะ มาระพะลัญจะ โส อิทานิ มะหาเถโร นะมัสสิตะวา ปะติฎฐิโต อะหัง วันทามิ อิทาเนวะ อุปะคุตตัง จะ มาหาเถรัง ยัง ยัง อุปัททะวัง ชาตัง วิธัง เสติ อะเสสะโต มะหาลาภัง ภะวันตุเม ฯ" )
Credit  :
https://torthammarak.wordpress.com/
http://www.dhammathai.org/nithan/dbview.php?No=48
http://board.palungjit.org/