ตอนที่ ๔
ครุฑกัณฑ์
ในกาลนั้น ยังมีครุฑตนหนึ่ง อยู่ที่ต้นงิ้วทางมหาสมุทรภาคใต้ กระพือลมปีกแหวกน้ำในมหาสมุทรลงไป จับศีรษะนาคราชได้ตัวหนึ่ง แท้จริงในกาลนั้น ครุฑทั้งหลาย ยังไม่รู้จักวิธีจับนาค ครั้นภายหลังจึงรู้จักวิธีจับนาคอย่างในปัณฑรกชาดก แต่ครุฑตัวนั้น เมื่อจับนาคทางศีรษะ ยังไม่ทันน้ำจะท่วมมาถึง ก็หิ้วนาคขึ้นได้ ปล่อยให้นาคห้อยหางลง พาบินไปเบื้องบนป่าหิมพานต์
ก็ในกาลนั้นมีพราหมณ์ชาวกาสิกรัฐผู้หนึ่ง ออกบวชเป็นฤๅษีสร้างบรรณศาลาอาศัย อยู่ในหิมวันตประเทศ ที่สุดจงกรมของฤๅษีนั้นมีต้นไทรใหญ่อยู่ต้นหนึ่ง ฤๅษีนั้นทำที่พักผ่อนหย่อนใจในกลางวันที่โคนต้นไทรนั้นครุฑหิ้วนาคผ่านไปถึงตรงยอดไทร นาคปล่อยหางห้อยอยู่ก็เอาหางพันคาคบต้นไทรด้วยหมายใจจะให้พ้น ครุฑมิทันรู้ก็รีบไปทางอากาศ เพราะมันมีกำลังมาก ต้นไทรพร้อมทั้งรากติดหางนาคไปด้วย เมื่อครุฑพานาคไปถึงต้นงิ้วก็จิกด้วยจะงอยปาก ฉีกท้องนาคกินมันเหลวของนาค ทิ้งร่างลงไปในท้องมหาสมุทร ต้นไทรก็ตกลงเสียงดังสนั่นหวั่นไหว ครุฑสงสัยว่าเสียงอะไร ก็มองไปดูเบื้องต่ำแลเห็นต้นไทร จึงคิดในใจว่า ต้นไทรนี้เราถอนมาแต่ไหน ก็นึกได้โดยถ่องแท้ว่า ต้นไทรนั้นอยู่ท้ายที่จงกรมของพระดาบส ตัวเราจะปรากฏว่า ทำอกุศลหรือไม่หนอ เราจักไปถามดาบสนั้นดูก็จะรู้ได้ ดังนี้แล้วก็แปลงเพศเป็นมาณพน้อยไปสู่สำนักพระดาบส ขณะนั้นพระดาบสกำลังทำที่นั้นให้สม่ำเสมอ พระยาสุบรรณไหว้พระดาบสแล้วก็นั่งอยู่ ณ ที่สมควร ทำทีประหนึ่งว่าไม่รู้แกล้งถามว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ ที่ตรงนี้เดิมเป็นที่อยู่ของอะไร ดาบสตอบว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุ สุบรรณตนหนึ่งนำนาคมาเพื่อเป็นภักษาหาร เมื่อนาคเอาหางพันคาคบต้นไทรด้วยหมายจะให้พ้น สุบรรณนั้นมิทันรู้บินไปโดยเร็ว เพราะความที่ตนมีกำลังมาก เมื่อเป็นเช่นนี้ต้นไม้ในที่นี้ ก็ถูกถอนขึ้นทันทีที่ตรงนี้แหละเป็นที่แห่งต้นไทรนั้นถอนขึ้น สุบรรณถามว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ อกุศลกรรมจะมีแก่สุบรรณหรือไม่ ดาบสตอบว่า ถ้าหากว่าสุบรรณนั้นไม่รู้อกุศลกรรมก็ไม่มี เพราะไม่มีเจตนา สุบรรณถามว่า ก็อกุศลกรรมจะมีแก่นาคนั้นหรือไม่เล่าเจ้าข้า ดาบสตอบว่า นาคก็มิได้จับเหนี่ยวไว้เพื่อจะให้ต้นไทรเสียหาย จับเหนี่ยวไว้เพื่อจะให้พ้นภัย เพราะเหตุนั้นอกุศลกรรมก็ไม่มีแก่นาคแม้นั้นเหมือนกัน
สุบรรณได้ฟังคำของดาบสก็ยินดีจึงกล่าวว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญข้าพเจ้านี้แหละคือสุบรรณนั้น ข้าพเจ้ายินดีด้วยพระผู้เป็นเจ้าแก้ปัญหา ข้าพเจ้ารู้มนต์ชื่อว่า อาลัมพายน์ บทหนึ่งหาค่ามิได้ ข้าพเจ้าจะถวายมนต์นั้นแก่พระผู้เป็นเจ้า ให้เป็นส่วนบูชาอาจารย์ พระผู้เป็นเจ้าจงรับไว้เถิด ดาบสกล่าวว่าพอละ เราไม่ต้องการด้วยมนต์ ท่านจงไปเถิด สุบรรณวิงวอนอยู่บ่อย ๆ จนพระดาบสรับแล้วจึงถวายมนต์ แล้วบอกยาแก่ดาบสแล้วก็หลีกไป
จบครุฑกัณฑ์
โสมทัตกัณฑ์
ในกาลนั้น ยังมีพราหมณ์คนหนึ่งในกรุงพาราณสีกู้ยืมหนี้สินไว้มากมาย ถูกเจ้าหนี้ทั้งหลายทวงถามก็คิดว่า เราจะอยู่ในเมืองนี้ไปทำไมอีก เข้าไปตายเสียในป่ายังประเสริฐกว่า ดังนี้แล้วจึงออกจากบ้านเข้าไปในป่าจึงบรรลุถึงอาศรมแห่งพระฤๅษี ปฏิบัติพระดาบสให้ยินดีด้วยวัตตสัมปทาคุณ พระดาบสคิดว่า พราหมณ์ผู้นี้เป็นผู้มีอุปการะแก่เรายิ่งนัก เราจักให้ทิพยมนต์ซึ่งสุบรรณราชให้เราไว้แก่พราหมณ์ผู้นี้ ดังนี้แล้วก็บอกพราหมณ์ว่า ดูก่อนพราหมณ์ เรารู้มนต์ชื่อว่าอาลัมพายน์ จักให้มนต์นั้นแก่ท่าน ท่านจงเรียนมนต์นั้นไว้
แม้เมื่อพราหมณ์นั้นห้ามว่า อย่าเลย ข้าพเจ้าไม่ต้องการมนต์ ก็อ้อนวอนแล้วอ้อนวอนเล่า จนพราหมณ์รับถ้อยคำแล้วจึงให้มนต์ และบอกยาอันประกอบกับมนต์และอุปจารแห่งมนต์ พราหมณ์นั้นคิดว่า เราได้อุบายที่จะเลี้ยงชีพแล้ว ก็พักอยู่ ๒-๓ วัน แล้วอ้างเหตุว่า โรคลมเบียดเบียน จนพระดาบสยอมปล่อยไปจึงกราบไหว้พระดาบส ขอขมาโทษแล้วก็ออกจากป่าไป จนถึงฝั่งแม่น้ำยมุนาโดยลำดับ เดินสาธยายมนต์นั้นไปตามหนทางใหญ่
ขณะนั้น นางนาคมาณวิกาบาทบริจาริกาของพระภูริทัตประมาณ ๑,๐๐๐ ตน ต่างถือเอาแก้วมณีที่ให้ความปรารถนาทุกอย่างนั้นออกจากนาคพิภพแล้ววางแก้วนั้นไว้บนกองทราย ริมฝั่งแม่น้ำยมุนา แล้วพากันเล่นน้ำตลอดคืน ด้วยแสงสว่างแห่งแก้วมณีนั้น ครั้นอรุณขึ้น จึงพากันตกแต่งกายด้วยเครื่องอาภรณ์ทั้งปวง นั่งล้อมแก้วมณีให้สิริเข้าสู่กาย ฝ่ายพราหมณ์ก็เดินสาธยายมนต์มาถึงที่นั้น เหล่านางนาคมาณวิกาได้ยินเสียงมนต์ สำคัญว่าเสียงพราหมณ์นั้นเป็นสุบรรณ ก็สะดุ้งกลัวเพราะมรณภัยไม่ทันหยิบแก้วมณี ก็พากันแทรกปฐพีไปยังนาคพิภพ พราหมณ์เห็นแก้วมณีก็ดีใจว่ามนต์ของเราสำเร็จผลเดี๋ยวนี้แล้ว ก็หยิบเอาแก้วมณีนั้นไป
ขณะนั้น พราหมณ์เนสาทพร้อมโสมทัตเข้าไปสู่ป่าเพื่อล่าเนื้อ เห็นแก้วมณีนั้นในมือของพราหมณ์นั้น จึงกล่าวกะบุตรว่า ดูก่อนโสมทัต แก้วมณีดวงนี้ที่พระภูริทัตให้แก่เรามิใช่หรือ
โสมทัต ใช่แล้วพ่อ
บิดา ถ้าเช่นนั้นเราจะกล่าวโทษแก้วมณีดวงนั้น หลอกพราหมณ์เอาแก้วมณีนี้เสีย
โสมทัต ข้าแต่พ่อ เมื่อพระภูริทัตให้ครั้งก่อนพ่อไม่รับ แต่บัดนี้กลับจะไปหลอกพราหมณ์เล่า นิ่งเสียเถิด
พราหมณ์เนสาทจึงกล่าวว่า เรื่องนั้นยกไว้ก่อน เจ้าคอยดูเราหลอกตานั่นเถิด ว่าแล้วเมื่อจะปราศรัยกับอาลัมพายน์จึงกล่าวว่า
แก้วมณีที่สมมติว่าเป็นมงคล เป็นของดี เป็น เครื่องปลื้มรื่นรมย์ใจเกิดแต่หิน สมบูรณ์ด้วยลักษณะ ที่ท่านถืออยู่นี้ ใครได้มาไว้
ลำดับนั้น อาลัมพายน์กล่าวว่า วันนี้แต่เวลาเช้าตรู่เราเดินไปตามทางใหญ่ ได้พบแก้วมณี แวดล้อมโดยรอบด้วยนางนาคมาณวิกาผู้มีตาแดงประมาณ ๑,๐๐๐ ตน ก็นางนาคมาณวิกาทั้งหมดนั้นเห็นเราเข้าสะดุ้งตกใจแล้ว พากันทิ้งแก้วมณีนี้หนีไป
พราหมณ์เนสาท ประสงค์จะลวงอาลัมพายน์นั้น จึงประกาศโทษแห่งแก้วมณี ประสงค์จะยึดเอาเป็นของตนจึงกล่าวว่า
แก้วมณีอันเกิดแต่หินนี้ ที่สั่งสมมาได้ด้วยดี อันบุคคลเคารพบูชาประดับประดาเก็บรักษาไว้ดีทุกเมื่อ ยังประโยชน์ทั้งปวงให้สำเร็จได้ เมื่อบุคคลปราศจากการระวังในการเก็บรักษา หรือในการประดับประดา แก้วมณีอันเกิดแต่หินนี้ ที่บุคคลหามาได้โดยไม่แยบคาย ย่อมเป็นไปเพื่อความพินาศ คนผู้ไม่มีกุศล ไม่ควรประดับแก้วมณีอันเป็นทิพย์นี้ เราจักให้ทองคำร้อยแท่ง ขอท่านจงให้แก้วมณีนี้แก่เราเถิด
แม้แท่งทองในเรือนของท่านเพียงแท่งเดียวก็ไม่มี ผู้นั้นย่อมรู้ว่าแก้วมณีนั้นให้สิ่งสารพัดนึก เราจะอาบน้ำดำศีรษะแล้วเอาน้ำประพรมแก้วมณี จึงกล่าวว่า ท่านจงให้แท่งทอง ๑๐๐ แท่งแก่เรา เมื่อเป็นเช่นนี้เราจักให้แก้วมณีที่ปรากฏว่าเป็นของเราแก่ท่าน เพราะเหตุนั้นผู้กล้าหาญจึงกล่าวอย่างนี้
ลำดับนั้น อาลัมพายน์ กล่าวว่า
แก้วมณีของเรานี้ ไม่ควรแลกเปลี่ยนด้วยโคหรือ รัตนะ เพราะแก้วมณีอันเกิดแต่หิน บริบูรณ์ด้วย ลักษณะเราจึงไม่ขาย
พราหมณ์เนสาทกล่าวว่า
ถ้าท่านไม่แลกเปลี่ยนแก้วมณีด้วยโคหรือรัตนะ เมื่อเป็นเช่นนั้นท่านจะแลกเปลี่ยนแก้วมณีด้วยอะไร ขอท่านจงบอกแก่เรา
อาลัมพายน์กล่าวว่า ผู้ใดบอกที่อยู่ของนาคใหญ่ผู้มีเดช ยากที่บุคคลจะล่วงเกินได้ เราจะให้แก้วมณีอันรุ่งเรืองด้วยรัศมีนี้
พราหมณ์เนสาทกล่าวว่า ท่านเป็นครุฑผู้ประเสริฐ แปลงเพศเป็นพราหมณ์มาแสวงหานาค ประสงค์จะนำไปเป็นอาหารของตนหรือ
อาลัมพายน์กล่าวว่า ดูก่อนพราหมณ์ เรามิได้เป็นครุฑ เราไม่เคยเห็นครุฑ เราเป็นผู้สนใจด้วยงูพิษ ชนทั้งหลายรู้จักเราว่า เป็นหมองู
พราหมณ์เนสาทกล่าวว่า ท่านมีความสามารถอะไร มีศิลปพิเศษอะไร จึงไม่ยำเกรงนาค
อาลัมพายน์นั้น เมื่อจะแสดงความสามารถของตนจึงกล่าวว่า
ครุฑมาบอกวิชาหมองูอย่างสูงแก่ฤๅษีโกสิยโคตร ผู้อยู่ในป่าประพฤติตบะอยู่สิ้นกาลนาน เราเข้าไปหา ฤๅษีตนหนึ่งซึ่งนับเข้าในพวกฤๅษีผู้บำเพ็ญตน อาศัยอยู่ในระหว่างภูเขา ได้บำรุงท่านโดยเคารพ มิได้เกียจคร้านทั้งกลางคืนกลางวัน ในกาลนั้น ท่านบำเพ็ญวัตรและพรหมจรรย์ เป็นผู้มีโชค เมื่อได้สมาคมกับเราจึงสอนมนต์ทิพย์ให้แก่เราด้วยความรัก เราทรงไว้ซึ่งผลอันวิเศษในมนต์นั้น จึงไม่กลัวต่อนาค เราเป็นอาจารย์ของพวกหมอผู้ฆ่าอสรพิษ ชนทั้งหลายรู้จักเราว่าอาลัมพายน์
พราหมณ์เนสาท ได้ฟังดังนั้นแล้วจึงคิดว่า อาลัมพายน์นี้ให้แก้วมณีแก่บุคคลผู้แสดงที่อยู่ของพระภูริทัตแก่เขา ครั้นแสดงพระภูริทัตแก่เขาแล้วจึงจักรับเอาแก้วมณี
แต่นั้นเมื่อจะปรึกษากับบุตรจึงกล่าวว่า
ดูก่อนลูกโสมทัต เราควรรับแก้วมณีไว้สิ เจ้าจงรู้ไว้ เราอย่าละสิริอันมาถึงตนด้วยท่อนไม้ตามชอบใจสิ
โสมทัตกล่าวว่า ข้าแต่พ่อผู้เป็นพราหมณ์ ภูริทัตนาคราชบูชาคุณพ่อผู้ไปถึงที่อยู่ของตน เพราะเหตุไร คุณพ่อจะปรารถนาประทุษร้าย ต่อผู้กระทำดี เพราะความหลงอย่างนี้ ถ้าคุณพ่อปรารถนาทรัพย์ ภูริทัตนาคราชก็ คงจักให้ คุณพ่อไปขอท่านเถิด ภูริทัตนาคราชคงจักให้ทรัพย์เป็นอันมากแก่คุณพ่อ
พราหมณ์กล่าวว่า ดูก่อนโสมทัต การกินของที่ถึงมือ ที่อยู่ใน ภาชนะหรือที่ตั้งอยู่เบื้องหน้า เป็นความประเสริฐ ประโยชน์ที่อยู่เบื้องหน้าเรา อย่าได้ล่วงเราไปเสียเลย
โสมทัตกล่าวว่า คนประทุษร้ายต่อมิตร สละความเกื้อกูล จะตกหมกไหม้อยู่ในนรกอันร้ายแรง แผ่นดินย่อมสูบผู้นั้น หรือเมื่อผู้นั้นมีชีวิตอยู่ก็ซูบซีด ถ้าคุณพ่อปรารถนาทรัพย์ ภูริทัตนาคราชก็คงจักให้ ลูกเข้าใจว่า คุณพ่อจักต้องประสบเวรที่ตนทำไว้ในไม่ช้า
พราหมณ์กล่าวว่า ลูกโสมทัตลูกยังเป็นหนุ่มไม่รู้อะไร ธรรมดาว่า พราหมณ์ทั้งหลาย ครั้นกระทำบาปอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว เมื่อบูชามหายัญแล้ว ก็ย่อมบริสุทธิ์ได้ เราจักบูชามหายัญ ก็จักพ้นจากบาปด้วยการบูชายัญอย่างนี้
โสมทัตกล่าวว่า เชิญเถิด ลูกจะขอแยกไป ณ บัดนี้ วันนี้ลูกจะไม่ขออยู่ร่วมกับคุณพ่อ จะไม่ขอเดินทางร่วมกับคุณพ่อ ผู้ทำกรรมหยาบอย่างนี้สักก้าวเดียว
ก็แลโสมทัตมาณพครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว เมื่อไม่อาจทำให้บิดาเชื่อฟังคำของตน จึงโพนทนาให้เทวดาทราบด้วยเสียงอันดังว่า ข้าพเจ้าจะไม่ไปกับคนทำบาปเห็นปานนี้ละ ครั้นประกาศแล้ว ก็หนีไปทั้ง ๆ ที่บิดาเห็นอยู่นั่นแลเข้าไปสู่ป่าหิมพานต์ บวชเป็นฤๅษียังอภิญญาและสมาบัติให้เกิดแล้ว มิให้เสื่อมฌานแล้วเกิดในพรหมโลก
จบโสมทัตกัณฑ์
ศีลกัณฑ์
พราหมณ์เนสาทคิดว่า โสมทัตจักไปไหน นอกจากเรือนของตนครั้นเห็นอาลัมพายน์ไม่พอใจหน่อยหนึ่ง จึงปลอบว่า ดูก่อนอาลัมพายน์ ท่านอย่าวิตกไปเลย เราจักชี้ภูริทัตให้ท่าน ดังนี้แล้ว ก็พาอาลัมพายน์ไปยังที่รักษาอุโบสถแห่งพระยานาค เห็นพระยานาคคู้ขดขนดอยู่ที่จอมปลวก จึงยืนอยู่ในที่ไม่ไกล เหยียดมือออกแล้วกล่าวว่า
ดูก่อนพราหมณ์ ท่านจงจับเอานาคใหญ่นั้น จงส่งแก้วนั้นมาให้เรา มีรัศมีดังสีแมลงค่อมทอง ศีรษะแดง ตัวปรากฏดังกองปุยนุ่น นอนอยู่บนจอม ปลวก ท่านจงจับมันเถิดพราหมณ์
พระมหาสัตว์ ลืมเนตรขึ้นแลเห็นพราหมณ์เนสาท จึงคิดว่า เราคิดอยู่แล้วว่า พราหมณ์คนนี้จะทำอันตรายแก่อุโบสถของเรา เราจึงพาผู้นี้ไปยังนาคพิภพ แต่งให้มีสมบัติเป็นอันมาก ไม่ปรารถนาเพื่อจะรับแก้วที่เราให้ แต่บัดนี้ไปรับเอาหมองูมา ถ้าเราโกรธแก่ผู้ประทุษร้ายมิตร ศีลของเราก็จักขาด ก็เราได้อธิษฐานอุโบสถ อันประกอบด้วยองค์ ๔ ไว้ก่อนแล้วต้องให้คงที่อยู่
อาลัมพายน์จะตัด จะเผา จะฆ่า จะแทงด้วยหลาวก็ตามเถิดเราจะไม่โกรธเขาเลย ถ้าเราจะแลดูเขาด้วยความโกรธ เขาก็จะแหลกเป็นเหมือนขี้เถ้า ช่างเถอะทุบตีเราเถอะ เราจักไม่โกรธเลย
ดังนี้แล้วก็หลับเนตรลง ทรงบำเพ็ญอธิษฐานบารมีไว้เป็นเบื้องหน้า ซุกเศียรเข้าไว้ ณ ภายในขนดนอนนิ่งมิได้ไหวติงเลย
จบศีลกัณฑ์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น